วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

นิทานคุณธรรม นิทานสอนใจ



นิทานคุณธรรม ปลุกมันขึ้นมาฆ่า
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ปรารภการยกย่องอสัตบุรุษของพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์ประมาณ ๕๐๐ คน ในนั้นมีมานพคนหนึ่งชื่อ สัญชีวะ ได้เรียนมนต์ทำคนตายให้ฟื้นคืนมาได้แต่ไม่ได้เรียนมนต์สำหรับป้องกัน
วันหนึ่ง เขาเข้าไปหาฟืนกับเพื่อน เห็นเสือตายตัวหนึ่งนอนตายอยู่ ก็พูดกับเพื่อนๆ ว่า
” เราจะทำเสือตายตัวนี้ ให้ฟื้นคืนมา พวกท่านจะเชื่อเราหรือไม่ ” พวกเพื่อนๆไม่เชื่อและท้าว่า ” ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงปลุกให้มันตื่นขึ้นมาเถิด ” แล้วก็ต่างรีบปีนขึ้นต้นไม้ไป
ส่วนนายสัญชีวะ ร่ายมนต์แล้วขว้างเสือตายด้วยก้อนหิน ทันใดนั้นเอง เสือได้ลุกขึ้น กระโดดกัดที่ก้านคอของเขา ทำให้เขาเสียชีวิตล้มลงตรงนั้นเอง ทั้งคนและสัตว์นอนตายในที่เดียวกัน พวกมานพขนฟืนไปแล้ว บอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์ อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
” ผู้ใดยกย่องและคบหาคนชั่ว
คนชั่วย่อมกระทำผู้นั้นแหละ ให้เป็นเหยื่อ
เหมือนเสือโคร่งที่สัญชีวมานพทำให้ฟื้นขึ้น แล้วทำเขานั้นแล ให้เป็นเหยื่อ ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การที่นิยมยกย่องคนไม่ดี ย่อมประสบความเดือดร้อน
นิทานคุณธรรม สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ออกจากถ้ำทอง ไปหาอาหาร ได้กระบือใหญ่ ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้ว ไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งในระหว่างทาง สุนัขจิ้งจอกจึงขออาสาเป็นผู้รับใช้ราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้กินเนื้อเดนราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า ” ข้าพเจ้า อยากกินเนื้ออย่างโน้น นายท่าน จงแผดเสียงเถิด ” พระยาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อนานาชนิดหรือแม้กระทั่งช้าง
ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก ชักกำเริบเกิดความคิดว่า ” แม้ตัวเรา ก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใด จะให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่ ราชสีห์ก็เพราะอาศัยเราบอกว่านายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะให้ราชสีห์พูดกับเราบ้าง ” ได้เข้าไปหาราชสีห์แล้วบอกเรื่องนั้น
แม้ถูกพระยาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า ” เป็นไปไม่ได้ ” ก็ตามคงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง พระราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำให้สุนัขจิ้งจอกนอนในที่นอนของตน แล้วไปคอยดูช้างตกมันที่เชิงเขาพบแล้ว ก็กลับเข้ามาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า ” จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด ”
สุนัขจิ้งจอก ออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป พญาราชสีห์เห็นเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
” มันสมองของเจ้าทะลักออกมา กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย
ซี่โครงของเจ้า ก็หักหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อย่าคิดทำอะไร เกินกำลังความสามารถของตัวเอ
นิทานคุณธรรม ไก่ขันไม่เป็นเวลา
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง สร้างความรำคาญและความเดือดร้อนแก่หมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มานพประมาณ ๕๐๐ คน พวกมานพอาศัยไก่ขันยามตัวหนึ่ง ในการลุกขึ้นศึกษาศิลปะ ต่อมามันได้ตายไป พวกเขาจึงแสวงหาไก่ตัวอื่นแทนมัน
วันหนึ่ง มีมานพคนหนึ่งเข้าไปหักฟืนในป่า ได้ไก่ป่าตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนี้ไม่รู้จักเวลาขัน เพราะเติบโตขึ้นในป่า บางวันก็ขันดึกเกินไป บางวันก็ขันอรุณขึ้น พวกมานพพากันตื่นมาศึกษาศิลปะในเวลาดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น ก็พากันนอนหลับไป ในเวลาสว่างแล้วก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย พวกเขาจึงพากันพูดว่า ” เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวมันขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงศึกษาศิลปะไม่สำเร็จหรอก ” จึงนำมันไปแกงเป็นอาหารแล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์
อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
” ไก่ตัวนี้ ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่
ไม่ได้อยู่ศึกษาในสำนักอาจารย์
จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เกิดเป็นคนต้องรู้จักเวลาที่เหมาะสมว่า อะไรควรไม่ควร
นิทานคุณธรรม ตายเพราะปาก
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เมื่อเรียนจบศิลปะทุกอย่างจากเมืองตักกสิลา แล้วบวชเป็นฤาษี ได้เป็นอาจารย์ผู้ให้โอวาทแก่ฤาษี ๕๐๐ ตน
ในที่นั้น มีฤาษีขี้โรคผอมเหลืองผู้หนึ่ง วันหนึ่ง ท่านกำลังนั่งฝ่าฝืนอยู่ ได้มีฤาษีปากมากผู้หนึ่งเข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วพูดว่า ” ท่านจงฟันอย่างนี้ จงฟันตรงนี้ ”
ทำให้ฤาษีขี้โรคโกรธแล้วกล่าวว่า ” ท่านไม่ใช่อาจารย์สอนศิลปะการฝ่าฟืนของผมนะ ” จึงฟันดาบสนั้นเสียชีวิตด้วยมีดฝ่าฟืนนั่นเอง
และในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของฤาษี มีนกกระทาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่จอมปลวก ทุกเช้าเย็นมันจะขึ้นไปยืนขันเสียงดังลั่นอยู่บนจอมปลวกนั้นเป็นประจำทุกวัน เป็นเหตุให้พรานผู้หนึ่งมาจับมันไปเป็นอาหาร
ฤาษีพระโพธิสัตว์ไม่ได้ยินเสียงมันขันจึงถามหมู่ฤาษี เมื่อทราบเหตุการณ์นั้นแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ท่ามกลางหมู่ฤาษีว่า
” คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา
ย่อมฆ่าคนผู้มีปัญญาทรามเสีย
เหมือนเสียงฆ่านกกระทา ที่ขันดังเกินไป ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การพูดมากไม่ดี ควรพูดตามกาลเทศะ และพูดแต่ที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น