วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

เพียงเปล่งเสียงตามบทสวดมนต์ ก็เปลี่ยนใจเราแล้ว



โดย…..สุวีโรภิกขุ

อาจารย์ที่น่าเคารพของข้าพเจ้าท่านหนึ่งกำลังสนใจเรื่องการปฏิบัติภาวนา
แต่ด้วยอายุวัยและสังขารร่างกายที่ไม่ใคร่จะเอื้ออำนวยนัก
ไอ้ครั้นจะมาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ เธอว่า (เคยลองฝึกดูแล้ว)ไม่ไหวแน่ๆ
เธอจึงหันมาอ่านหนังสือกับฟังซีดีธรรมะ เพื่อทำความเข้าใจด้วยตัวเองแทน
ซึ่งมันก็น่าจะเป็นไปได้จริงมากกว่า ใช่ไหม?
แต่หลังจากได้อ่านอยู่หลายปีได้ฟังมาปีหนึ่ง
กลับมองไม่เห็นความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงอันใด
ที่น่าพึงพอใจในตัวเอง เอาเสียเลย


อีกทั้งในช่วงเวลานี้หลังเกษียณยังต้องรับหน้าที่ดูแลมารดาวัยชรา
ซึ่งป่วยไข้ด้วยโรคอันเกิดจากความเสื่อมของสมอง
ก่อนออกจากบ้านมาทำงาน(หลังเกษียณยังรักที่จะทำงานช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป)
จึงต้องตระเตรียมอาหารและสิ่งจำเป็นทิ้งเอาไว้ให้ผู้ดูแล
อาหารเหลวที่เป็นของย่อยง่ายเหมาะกับวัย
กลับมิใช่ว่าจะบริโภคเข้าไปได้ง่ายอย่างที่คิด
หลายครั้งหลายหนอาจารย์จำต้องบังคับให้คุณแม่ทานเข้าไป
บ่อยครั้งจึงมีปากเสียงกระทบกระทั่งกัน
จนถึงขั้นคุณแม่ไม่ยอมกินและยังแถมคำด่าทอให้พรตามมาหลายชุด
ซึ่งอาจารย์ก็น้อมรับด้วยความโมโหและพกติดใจเอาไปด้วยทุกเวลา
ความรู้สึกไม่สบายใจจึงเกิดขึ้นเวียนวนไปมาพร้อมๆกับกิจกรรมภายในบ้าน


เธอถามตนเองว่า ทำไม?ทำดีแล้วยังทุกข์อีก
ยิ่งกระทำต่อมารดาด้วยแล้ว
ไฉน?เราจึงหาความสงบสุขภายในใจกับสิ่งดีๆที่ทำให้ไม่ได้เลย
เพื่อนๆและลูกศิษย์ต่างก็ช่วยพูดให้กำลังใจกัน
“ในเวลาอย่างนี้ เป็นโอกาสที่ดีแล้วล่ะที่จะได้ทำความดีตอบแทนกลับคืน”
นั่นสินะ แล้วถ้ามันดีจริงทำไม?ครูถึงได้เป็นทุกข์และกลุ้มใจอย่างนี้ล่ะ


เคยสังเกตุเห็นบ้างรึเปล่าว่า เพราะเหตุใด?
…คุณความดีที่คิดเอาไว้และได้ทำต่อใครบางคนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
จึงสามารถย้อนกลับมาสร้างความทุกข์บั่นทอนจิตใจตัวเอง
หรือว่าเคยบ้างไหม? ที่จะรู้สึกกังขาต่อความดีงามที่ตนเองกระทำให้กับผู้อื่น…ว่า
มันคงจะไม่ดีจริง หรือมันดีได้ไม่สมดีใช่ไหม? ถึงไม่สามารถเติมเต็มหัวใจเรา
หรือว่ามีความต้องการทำดีเพื่อประโยชน์อื่นๆไปตามเรื่องตามราวในแต่ละเหตุการณ์


คุณงามความดีมันก็ดีในแบบของมันอยู่หรอก
ทว่ามันอาจไม่ได้ดีสมใจเราจริงๆเท่านั้นเอง
ถ้าอย่างงั้น…จะทำดีไปทำไม? หากมันไม่เห็นผลอย่างที่คิด
อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงจิตใจเรา แค่ทำดีแต่ไม่หวังผล อย่างงั้นหรือ?
เพียรทำความดีเพราะเห็นว่ามันดี
และทำได้ไม่เบียดเบียนใคร(รวมทั้งตนเอง) ก็เพียงพอแล้ว
จะหาเหตุอ้างความชอบธรรมอันใดไปทำไมกัน
เมื่อมิได้ทำเพื่อโอ้อวดหรือหวังผลอื่นใดแอบแฝง
ส่วนที่ต่อจากนั้นจะเป็นไรไป หากแม้นจะเป็นทำดีไม่ได้ดีดังใจ
ก็แค่รู้และยอมรับไปตามความเป็นจริง
ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราที่เป็นอย่างงั้นเอง


มีเพื่อนบางคนแนะให้อาจารย์สวดมนต์ลองดู
เพราะผู้แนะนำก็ได้รับประโยชน์อันเกิดจากการสวดมนต์มิใช่น้อย
อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น
แต่พออาจารย์เริ่มต้นสวดมนต์จริงๆ
ในใจกลับมีความคิดความเห็นมากมาย
ให้ไม่ยอมโอนอ่อนตามภาษาที่ตัวท่านเองไม่เข้าใจ
และด้วยความเป็นนักวิจัยของท่านเอง
จึงหาเหตุผลมาโต้แย้งในการสวดมนต์แต่ละครั้ง จนกระทั่งเลิกกิจกรรมนี้ไปในที่สุด


ในงานวิจัยร่วมกันของดร.แอนดรู ไวลด์กับดร.ริชาร์ด เกอร์เบอร์
ในหนังสือชื่อ Vibration Medicine กล่าวเอาไว้ว่า
พลังสั่นสะเทือนที่เราได้จากการท่องคาถาสวดมนต์นั้นเป็นยาวิเศษ
หากร่างกายได้รับพลังจากการสวดมนต์นี้จะช่วยเยียวยาอาการของโรคที่อวัยวะส่วนนั้น ๆ
เพราะว่าคลื่นเสียงที่เปล่งออกมาจากการสวดมนต์ที่กระทบโสตประสาทการรับฟัง
ด้วยความดังสม่ำเสมอและมีจังหวะความถี่ในระดับเดียวกัน
จะสามารถกระตุ้นกระบวนการทำงานภายในร่างกายและฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้น
เมื่อเซลล์ประสาทของระบบประสาทสมอง
สังเคราะห์สารสื่อประสาทหลายๆชนิดบริเวณ ก้านสมอง
และหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ ซีโรโทนิน (serotonin)
ออกมาจากปมประสาท (synapse)เพิ่มขึ้น
ซีโรโทนินเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทชนิดอื่นๆ
เช่น เมลาโทนิน ซึ่งเปรียบคล้ายกับยาอายุวัฒนะ, โดปามีน
มีฤทธิ์ลดความก้าวร้าวและอาการพาร์กินสัน
นอกจากนี้ปริมาณของซีโรโทนินยังมีความสัมพันธ์ต่อการกระตุ้น
การหลั่งสารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น อะเซทิลโคลีน
ช่วยในกระบวนการเรียนรู้และความจำ


ดังเช่นที่อาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ได้เคยอธิบายว่า
“เวลาเราสวดมนต์นานๆ คำแต่ละคำจะสร้างความสั่นสะเทือน
ไม่เท่ากันตามฐานที่เกิดของเสียง หรือตามวิธีเปล่งเสียง
แม้ว่าเสียงจะออกมาจากปากเหมือนกัน แต่ว่าเสียงบางเสียงออกมาจากริมฝีปาก
บางเสียงออกมาจากปุ่มเหงือก บางเสียงออกมาจากไรฟัน
บางเสียงออกมาจากคอ ดังนั้นถ้าเราสวดมนต์ถูกต้องตามฐานกรณ์
จะเกิดพลังของการสั่น(Vibration)” พลังของการสั่นนี้จะเข้าไปเยียวยาอาการป่วย
เสียงสวดมนต์จึงช่วยกระตุ้นต่อมต่างๆให้ทำหน้าที่ปราบเชื้อโรคบางชนิด
บทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา เสียงอักขระแต่ละตัวมีคำหนักเบาไม่เท่ากัน
บางตัวสั่นสะเทือนมาก บางตัวสั่นสะเทือนน้อย
ทำให้ต่อมต่างๆในร่างกายถูกกระตุ้นเมื่อต่อมที่ฝ่อถูกกระตุ้นบ่อยๆเข้า
ก็คงคืนสภาพ อาการป่วยก็จะดีขึ้น


ดร.แอนดรู ไวลด์ ยังกล่าวอีกว่า การหายใจเข้า-ออกยาวใน ๑นาทีไม่เกิน ๖ครั้ง
ยังช่วยแก้ปัญหาอาการปวดหัวไมเกรน ความเครียด และโรคนอนหลับ เป็นต้น
เช่นนี้แล้วจะมีกิจกรรมใดที่ดีต่อร่างกายและทำได้ง่ายเท่ากับการสวดมนต์อีกเล่า
เราจะสามารถหายใจยาวๆได้ในทันทีที่เปล่งเสียงออกมา



หลังจากได้รับกำลังใจจากลูกศิษย์ลูกหาอย่างต่อเนื่อง
เห็นจะไม่มีทางอื่นกระมัง ที่จะช่วยลดความไม่สบายใจ
ได้ดีเท่ากับการสวดมนต์อีกแล้วในเวลานี้
อาจารย์ของข้าพเจ้าจึงกลับมาสวดมนต์อีกครั้ง ทั้งๆที่รู้ความหมายของบทสวด
แม้จะยังไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งกับเนื้อหาของบทสวดก็ตามที
แถมเปิดอ่านท่องติดๆขัดไปอย่างนั้น หากท่านก็ยังทำอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
ซึ่งในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา
อาจารย์มีความสุข คุณแม่อาจารย์ก็มีความสุข พูดบ่นน้อยลง
ยอมทานอาหารเหลวและมาร่วมสวดมนต์กับท่าน


“ภาษาพระฉันไม่คุ้นเอาซะเลย” นั่นมันก็ดีนะ จะได้ไม่มีอะไรให้ต้องไปคิดต่อ
แค่ปากว่าตามไปด้วยใจที่ยอมทำและทำเต็มที่ เท่านี้ก็ดีแล้ว
เป็นความดีที่ไม่เบียดเบียนใจ เพราะมันหยุดคิดและเลิกรากับความวิตกกังวลไปเลย
พอเริ่มออกเสียงเปล่งคำอักขระต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ความคิดทั้งหลายก็ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว
อาจารย์บอกว่า “ถึงครูจะสวดมนต์ ก็สวดไม่คล่อง แถมยังสวดผิดๆถูกๆ
แต่ไม่รู้ทำไม อะไรๆต่างๆมันถึงได้ดีขึ้นมา” นั่นสินะ มันดีก็ดีแล้วเนอะ
เป็นความดีที่รู้จักยอมเปลี่ยนใจตัวเองให้กลับมาสวดมนต์อีกครั้ง ไงล่ะอาจารย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น